FREE SHIPPING ON ALL ORDERS OVER 400 THB

How to Read Dog Food Labels for Beginners

31 ตุลาคม 2565
ระยะเวลาการอ่าน : 8 นาที

สำหรับเพื่อน ๆ ที่เลี้ยงน้องหมานั้นจะทราบเป็นอย่างดีว่าอาหารเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตและส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของเขา ดังนั้นการเลือกซื้ออาหารจึงจำเป็นต้องพิจารณาจากหลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะการอ่านฉลากโภชนาการที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์ที่จะช่วยให้เราเลือกซื้ออาหารที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับน้องหมาที่บ้านได้อย่างง่ายดาย

วันนี้หมอนีทจะมาแบ่งปันวิธีการอ่านฉลากอย่างง่ายให้เพื่อน ๆ นำไปใช้ตัดสินใจเลือกซื้ออาหารได้อย่างมั่นใจกันค่ะ

1. แหล่งที่ตั้งที่ผลิตอาหาร

เหตุผลที่ต้องทราบแหล่งผลิตก่อนเป็นอันดับแรกเพราะหากมีข้อสงสัยในตัวผลิตภัณฑ์ เพื่อน ๆ สามารถโทรไปสอบถามได้ทันที

2. ส่วนผสมในอาหาร และสารอาหาร

อาหารน้องหมาที่ดีควรเขียนบอกว่าใส่วัตถุดิบอะไรเป็นส่วนประกอบบ้าง โดยรายการของส่วนผสมจะเรียงลำดับจากมากไปน้อย ดังนั้นหมอนีทชวนให้เพื่อน ๆ อ่านทั้งหมดอย่างละเอียด เพื่อดูว่ามีส่วนผสมที่ทำให้เกิดอาการแพ้กับน้องหมาของเราไหม โดยมาตรฐานแล้วส่วนผสมหลักในอาหารควรเป็นเนื้อสัตว์จริง ๆ ไม่ใช่ผลพลอยได้จากสัตว์ (by product) เช่น กระดูกป่น ปีกไก่ป่น เป็นต้น

นอกจากนี้เรื่องสารอาหารก็สำคัญ เพราะสารอาหารมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตและส่งเสริมให้น้องหมามีสุขภาพแข็งแรงได้ โดยจะบอกเป็นปริมาณที่ต่ำสุดหรือสูงสุดของสารอาหาร เช่น โปรตีน ไขมัน กากใย และความชื้น ซึ่งปกติแล้วค่าโปรตีนและไขมันจะบอกเป็นค่าไม่น้อยกว่า (Min.) เพราะว่าตามมาตรฐานการผลิตอาหารจะต้องผ่าน minimum requirement เพื่อให้น้องหมานำสารอาหารที่ได้ไปใช้เพื่อการเจริญเติบโตให้เหมาะสมกับช่วงวัยและการใช้พลังงาน ส่วนค่ากากใยและความชื้นจะบอกเป็นค่าไม่มากกว่า (Max.) เพราะว่า ถ้ามีค่ากากใยมากเกินไปจะมีผลกับระบบทางเดินอาหาร อาจทำให้น้องหมาท้องเสียได้ และกำหนดค่าความชื้นให้ไม่เกินตามมาตรฐาน เพื่อควบคุมในเรื่องของอายุของอาหาร หรือ Shelf life 

3. เลขทะเบียนอาหารสัตว์

เลขทะเบียนอาหารสัตว์ คือ สิ่งที่บ่งบอกว่าอาหารนั้นผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองอย่างถูกต้องจากกรมปศุสัตว์แล้ว

เปรียบเสมือนการรองรับว่าสามารถนำมาเป็นอาหารหรือขนมให้สัตว์ได้ โดยการรองรับหรือนุญาตนี้จะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ

4. มาตรฐาน AAFCO หรือ FEDIAF

อาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและสมดุลย์จะผ่านเกณฑ์มาตรฐานนี้

ปกติแล้วอาหารจะต้องมีมาตรฐานรับรอง ในขณะที่ขนมไม่จำเป็นจะต้องมีการรองรับให้ตรงตามมาตรฐานของ AAFCO หรือ FEDIAF แต่จำเป็นจะต้องมีเลขทะเบียนอาหารสัตว์อยู่

หน่วยงาน AAFCO และ FEDIAF นั้น เป็นองค์กรที่กำหนดค่าสารอาหาร เพื่อให้น้องหมาได้สารอาหารที่ถูกหลักโภชนาการตามเกณฑ์ เหมาะสมกับช่วงวัยแต่ไม่ได้เป็นองค์กรที่ให้การรับรองมาตรฐานกับสินค้านั้น ๆ

5. วันหมดอายุ

แนะนำว่าให้ดูวันหมดอายุของอาหารทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของน้องหมา เพราะการที่น้องหมากินอาหารที่หมดอายุเข้าไป อาจทำให้มีอาการท้องเสีย อาเจียน หรือติดเชื้อแบคทีเรียได้

6. ปริมาณอาหารที่แนะนำต่อวัน

ปริมาณอาหารที่แนะนำต่อวันควรคิดตามน้ำหนักตัวของน้องหมา เพื่อให้มั่นใจว่าน้องหมาได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ไม่ขาด หรือ ได้รับมากจนเกินไป

ปริมาณสารอาหารของอาหาร

สำหรับเพื่อน ๆ ที่เลือกซื้ออาหารให้น้องหมาที่อาจจะมีปัญหาเรื่องไต ไม่อยากให้อาหารที่มีโปรตีนสูงเกินไป น้องหมาที่เป็นโรคตับ ต้องการไขมันต่ำ หรือแม้แต่น้องหมาที่ไม่ได้มีปัญหา แต่เพื่อน ๆ อยากดูค่าโภชนาการสารอาหารว่ามีปริมาณเท่าไหร่บ้าง อาจจะเกิดการเข้าใจผิดในการอ่านเทียบสารอาหารที่ฉลากของอาหารเม็ด และอาหารเปียกได้ เพราะด้วยความชื้นที่ต่างกันของอาหารทั้งสองแบบ ทำให้เพื่อน ๆ ไม่สามารถเทียบสารอาหารตามฉลากกันได้โดยตรง ซึ่งค่าที่นำมาเปรียบเทียบกันจะเป็นค่าที่เอาความชื้นออก เพื่อที่ทำให้เรารู้ถึงปริมาณอาหารแห้งจริง ๆ ซึ่งเป็นการเทียบกันในหน่วยวัตถุแห้ง หรือ as dry matter 

**เพื่อความสนุกและความเข้าใจที่มากขึ้น หมอนีทแนะนำให้เพื่อน ๆ ลองหยิบซองอาหาร หรือหารูปจากอินเทอร์เน็ต ทั้งแบบเม็ดและแบบเปียก มาคำนวณเล่น ๆ พร้อมกันดูนะคะ ☺

ขั้นตอนการเทียบวัตถุแห้ง

ตามปกติแล้วค่าสารอาหารที่ระบุที่ฉลากนั้นจะเป็นค่าในหน่วยน้ำหนักรวม หรือ as fed ดังนั้นขั้นตอนแรกของการที่เราจะเปรียบเทียบปริมาณต่าง ๆ ในหน่วยวัตถุแห้ง หรือ as dry matter เราจำเป็นต้องหาวัตถุแห้งในอาหารก่อนว่ามีปริมาณเท่าไหร่

สมการที่เราใช้ในการคำนวนสารอาหารในหน่วยวัตถุแห้ง (as dry matter) คือ

(% สารอาหาร (as fed) ÷ % as dry matter) x 100 = % สารอาหาร (as dry matter)

ตัวอย่างที่ 1

มาดูกันที่อาหารเปียก 100 กรัม

  1. ฉลากระบุว่าในอาหารเปียก 1 กระป๋อง หนัก 100 กรัม มีความชื้นที่ 75%
  2. หมายความว่าอาหารกระป๋องนี้มีวัตถุแห้ง 25%
  3. อนุมานได้ว่า 25% ของวัตถุแห้ง 100 กรัม คือ 25 กรัม as dry matter
  4. ฉลากระบุว่าในอาหารเปียก 1 กระป๋อง หนัก 100 กรัม มีโปรตีน 12% ดังนั้นมีโปรตีน 12 กรัม ใน 1 กระป๋อง
  5. ถ้าเราเอาความชื้นออกเพื่อทำให้เป็น dry matter จะได้คำนวนดังสมการ คือ (12÷25) x 100 = 48%

ตัวอย่างที่ 2

อาหารโปรตีน (As fed)ความชื้นDry matter หลังหักความชื้น
A (อาหารเม็ด)23%9%91%
B (อาหารเปียก)12%84%16%

ถ้าอ่านเผิน ๆ ที่ฉลากแล้ว เพื่อน ๆ จะเห็นว่าค่าโปรตีนของอาหารเม็ดมากกว่าอาหารเปียก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเราลองมาคำนวนเทียบในหน่วยของ as dry matter จะได้ดังนี้ คือ 
อาหารเม็ดยี่ห้อ A: (23÷91) x 100 = 25% as dry matter
อาหารเปียกยี่ห้อ B: (12÷16) x 100 = 75% as dry matter

อาหารโปรตีน (As fed)โปรตีน (As dry matter)
A (อาหารเม็ด)23%25%
B (อาหารเปียก)12%75%

เพื่อน ๆ จะเห็นว่าค่าโปรตีนกลับพลิกมาในทางที่เราไม่คาดคิดทันที กลายเป็นว่าในอาหารเปียก มีโปรตีนมากกว่าอาหารเม็ด ซึ่งแค่เคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านี้ก็สามารถทำให้เพื่อน ๆ เลือกซื้ออาหารในน้องหมาได้ตรงตามความต้องการแล้วค่ะ

สำหรับเพื่อน ๆ ที่ต้องการเสริมความมั่นใจในการคำนวณ หมอนีทมีตัวอย่างมาให้เพื่อน ๆ ลองทำดูกันนะคะ

อาหารโปรตีน (As fed)ไขมัน (As fed)กาก (As fed)ความชื้น
A12%1%1%86%
B10%6%1%82%
C23%12%5%9%
  1. โปรตีน as dry matter ในอาหารยี่ห้อใด มีมากสุด 
  2. ไขมัน as dry matter ในอาหารยี่ห้อใด มีน้อยสุด 

เฉลย

เพื่อน ๆ สามารถคำนวณจากสมการได้เลยค่ะ 
(% สารอาหาร (as fed) ÷ % as dry matter) x 100 = % สารอาหาร (as dry matter)

อาหารโปรตีน (As fed)ความชื้นDry matter หลังหักความชื้นโปรตีน (As dry matter)
A12%86%14%86%
B10%82%18%55%
C23%9%91%25%
อาหารไขมัน (As fed)ความชื้นDry matter หลังหักความชื้นไขมัน (As dry matter)
A1%86%14%7%
B6%82%18%33%
C12%9%91%13%

จากตารางสองตารางด้านบน เฉลย อาหารที่มีโปรตีน as dry matter มากสุด คือ อาหารยี่ห้อ A และอาหารที่มีไขมัน as dry matter น้อยสุด คือ อาหารยี่ห้อ A 

หมอนีทหวังว่าเทคนิคที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะช่วยให้เพื่อน ๆ เข้าใจฉลากได้ง่ายขึ้น รวมถึงดูโภชนาการสารอาหารให้น้องหมาได้อย่างมั่นใจ ขอให้เพื่อน ๆ และน้องหมา ทานอาหารที่อร่อย ดีต่อสุขภาพ และมีความสุขกันมากๆ นะคะ

ที่มา

เขียนโดย
คุณหมอนีท ผู้รักสัตว์แทบทุกชนิดบนโลก ชื่นชอบอาหาร และหลงใหลในธรรมชาติ

Shopping Cart