FREE SHIPPING ON ALL ORDERS OVER 400 THB

All about Vitamins & Minerals

19 ธันวาคม 2565
ระยะเวลาการอ่าน : 10 นาที

นอกจากสารอาหารหลักที่ประกอบด้วย โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตแล้ว ยังมีสารอาหารอื่นที่เป็นประโยชน์และมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของน้องหมาเช่นกัน ก็คือวิตามินและแร่ธาตุนั่นเองค่ะ ซึ่งวิตามินและแร่ธาตุแต่ละตัว ก็มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป ดังนั้นหมอนีทจะมาแบ่งปันความสำคัญและประโยชน์รวมถึงข้อเสียของวิตามินและแร่ธาตุแต่ละตัวให้เพื่อน ๆ กันค่ะ ☺

ประเภทของวิตามินและแร่ธาตุ

วิตามินแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. วิตามินที่ละลายในไขมัน (Lipid-Soluble Vitamins) ได้แก่ วิตามินเอ (Vitamin A) วิตามินดี (Vitamin D) วิตามินอี (Vitamin E) และวิตามินเค (Vitamin K)
  2. วิตามินที่ละลายในน้ำ (Water-Soluble Vitamins) ได้แก่ วิตามินบีรวม (Vitamin B Complex) และวิตามินซี (Vitamin C)

แร่ธาตุแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. แร่ธาตุหลัก (Macromineral) ได้แก่ แคลเซียม (Calcium) ฟอสฟอรัส (Phosphorus) โซเดียม (Sodium) คลอไรด์ (Chloride) แมกนีเซียม (Magnesium) และโพแทสเซียม (Potassium)
  2. แร่ธาตุรอง (Micromineral) ได้แก่ ทองแดง (Copper) ไอโอดีน (Iodine) เหล็ก (Iron) แมงกานีส (Manganese) ซีลีเนียม (Selenium) และสังกะสี (Zinc)

หน้าที่ของวิตามินและแร่ธาตุแต่ละตัว

วิตามินที่ละลายในไขมันหน้าที่ของวิตามิน
วิตามินเอ (Vitamin A)– ช่วยเรื่องการมองเห็นและการเจริญเติบโตของกระดูก 
– ช่วยให้ผิวหนังและเยื่อเมือกตามระบบทางเดินหายใจแข็งแรง
วิตามินดี (Vitamin D)– ควบคุมระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัส
– มีความสำคัญต่อการพัฒนาเนื้อเยื่อกระดูก
วิตามินอี (Vitamin E)– เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
– ป้องกันการเหม็นหืนของอาหาร
– สำคัญต่อระบบสืบพันธุ์ให้เป็นปกติ
วิตามินเค (Vitamin K)– ช่วยในการแข็งตัวของเลือด
– ช่วยให้แคลเซียมเข้าไปสะสมในกระดูก
วิตามินที่ละลายในน้ำหน้าที่ของวิตามิน
วิตามินบี 1 (Vitamin B1; Thiamin)– ช่วยสร้างพลังงานให้แก่เซลล์
– ช่วยในการส่งสัญญาณกระแสประสาท
วิตามินบี 2 (Vitamin B2; Riboflavin)– ช่วยให้ผิวหนังและขนมีสุขภาพดี
วิตามินบี 3 (Vitamin B3; Niacin)– ปกป้องผิวหนัง จากการที่ช่วยกระตุ้นการสังเคราะห์ไขมันใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะ ceramides ที่เป็นกรดไขมันที่ช่วยปกป้องไม่ให้ผิวแห้งและขาดน้ำ
วิตามินบี 5 (Vitamin B5; Pantothenic acid)– เป็นส่วนประกอบของ coenzyme A ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีบทบาทในระบบเผาผลาญของร่างกาย ดังนั้นช่วยสร้างพลังงานได้
วิตามินบี 6 (Vitamin B6; Pyridoxine)– ช่วยสังเคราะห์ฮีโมโกลบิน ที่เป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดง
– ช่วยเปลี่ยนกรดอะมิโน Tryptophan เป็น วิตามินบี 3 (Niacin)
วิตามินบี 7 (Vitamin B7; Biotin)– ช่วยให้ผิวหนังและเส้นขนเงางามสุขภาพดี
– มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาท
วิตามินบี 9 (Vitamin B9; Folic acid)– เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเนื้อเยื่อระบบประสาท
– เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ส่วนประกอบของ DNA 
– ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง
วิตามินบี 12 (Vitamin B12; Cobalamin)– มีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์โปรตีนและสร้างเม็ดเลือดแดง
โคลีน (Choline)– มีบทบาทต่อการปกป้องผิวหนังไม่ให้ขาดน้ำ
– เป็นส่วนประกอบของ lipoprotein ซึ่งเป็นตัวที่ช่วยจนส่งกรดไขมันไปตามร่างกาย
– ช่วยในการส่งกระแสประสาท
– เป็นส่วนประกอบของตัวที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด
วิตามินซี (Vitamin C; Ascorbic acid)– มีบทบาทต่อการสังเคราะห์คอลลาเจน
– มีบทบาทต่อการสังเคราะห์ L-carnitine
– ช่วยป้องกันโรคเหงือกอักเสบได้
– เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย
– เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ

เกร็ดความรู้: น้องหมาสามารถสังเคราะห์วิตามินซีได้เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องกินวิตามินซีเสริมเข้าไป แต่คนไม่สามารถสังเคราะห์วิตามินซีได้ จึงต้องได้รับวิตามินซีจากภายนอก

แร่ธาตุหลักหน้าที่ของแร่ธาตุ
แคลเซียม (Calcium)– เป็นส่วนประกอบของกระดูกและฟัน
– มีบทบาทสำคัญในการส่งสัญญาณกระแสประสาทและการแข็งตัวของเลือด 
– ช่วยการทำงานของหัวใจ
ฟอสฟอรัส (Phosphorus)– เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก
– เป็นส่วนประกอบของตัวให้พลังงาน
– เป็นโครงสร้างของ DNA และ RNA
โซเดียม (Sodium)– คุมสมดุลอิเล็กตรอไลต์ สมดุลกรดเบส สมดุลน้ำ และการขับปัสสาวะ 
– เกี่ยวข้องกับการสร้างและส่งสัญญาณกระแสประสาท
คลอไรด์ (Chloride)– คุมสมดุลอิเล็กตรอไลต์ และสมดุลกรดเบส
โพแทสเซียม (Potassium)– คุมสมดุลอิเล็กตรอไลต์และสมดุลกรดเบส
– ช่วยในการส่งสัญญาณกระแสประสาท
– มีบทบาทสำคัญในการเผาผลาญพลังงาน
แมกนีเซียม (Magnesium)– เป็นส่วนประกอบของกระดูกและฟัน
– กระตุ้นการรับสัญญาณประสาท
– มีบทบาทในการสังเคราะห์โปรตีน
แร่ธาตุรองหน้าที่ของแร่ธาตุ
เหล็ก (Iron)– เป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบิน ที่อยู่บนเม็ดเลือดแดง ทำหนา้ที่ช่วยขนส่งออกซิเจนไปตามร่างกาย
สังกะสี (Zinc)– จำเป็นต่อการขนส่งวิตามินเอ ระบบภูมิคุ้มกัน และการทำงานของระบบสืบพันธุ์
– ช่วยบำรุงผิวหนังและเส้นขนให้มีสุขภาพดี
– ส่งเสริมการหายของแผล
แมงกานีส (Manganese)– จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของกระดูก และระบบสืบพันธุ์
– บำรุงข้อต่อ
ทองแดง (Copper)– เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
– เกี่ยวข้องกับการสร้างคอลลาเจนในเส้นเอ็น
– ให้สีแก่เส้นขน
– ช่วยป้องกันเลือดจาง
ไอโอดีน (Iodine)– ช่วยสังเคราะห์ฮอร์โมนไทรอยด์ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต
ซีลีเนียม (Selenium)– เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
– มีบทบาทในการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน

น้องหมาควรได้รับวิตามินและแร่ธาตุเท่าไหร่?

ตามมาตรฐาน AAFCO และ FEDIAF ระบุระดับวิตามินและแร่ธาตุขั้นต่ำที่น้องหมาควรได้รับ และสำหรับวิตามินบางตัวกำหนดค่าที่ไม่ควรเกินไว้ด้วย ได้แก่ วิตามินเอ และวิตามินดี เพราะว่าวิตามินสองตัวนี้สามารถละลายในไขมันและเก็บสะสมตามร่างกายได้ โดยเฉพาะที่ตับและไต ทำให้เกิดความเป็นพิษได้สูง

ระดับวิตามินและแร่ธาตุที่น้องหมาควรได้รับจะแตกต่างกันไปตามวิตามินและแร่ธาตุแต่ละตัว เช่น น้องหมาต้องการวิตามินเอมากกว่าวิตามินดี ต้องการแคลเซียมมากแมกนีเซียม เป็นต้น

รู้หรือไม่ !? หน่วยวัดของวิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี จะเป็นหน่วยที่แปลกจากสารอาหารหรือวิตามินตัวอื่น ๆ เพราะว่ามีสารออกฤทธิ์ในปริมาณต่างกัน ดังนั้นทางองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) จึงกำหนดหน่วยวัดมาตรฐาน (International Unit: IU) ขึ้นมา เพื่อเป็นหน่วยอ้างอิงเปรียบเทียบประสิทธิภาพสารออกฤทธิ์แต่ละตัวเมื่อวิตามินแตกตัวในร่างกาย ดังนั้น 1 IU ของวิตามินแต่ละประเภท จะไม่เท่ากัน

ถ้าน้องหมาได้รับวิตามินและแร่ธาตุมากไปล่ะ?

ถึงแม้ว่าวิตามินและแร่ธาตุจะมีประโยชน์แก่ร่างกาย แต่ถ้าน้องหมาได้รับวิตามินบางตัวในปริมาณที่มากเกินไปก็เป็นอันตรายได้เช่นกัน โดยเฉพาะวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน เพราะว่าวิตามินประเภทนี้สามารถสะสมตามร่างกายและก่อให้เกิดความเป็นพิษได้ ในขณะที่วิตามินที่ละลายในน้ำจะมีการขับออกทางปัสสาวะ

ตัวอย่างวิตามินที่ถ้าน้องหมาได้รับเยอะเกินไปจะเป็นอันตราย เช่น น้องหมาที่ได้รับวิตามินเอเกิน จะส่งผลต่อข้อต่อ กระดูก และระบบสืบพันธุ์ผิดปกติไป เป็นต้น

จะรู้ได้อย่างไรว่าน้องหมาขาดวิตามินและแร่ธาตุ?

การที่น้องหมาขาดวิตามินหรือแร่ธาตุจะแสดงอาการออกมาแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดที่ขาด เช่น ถ้าน้องหมาขาดวิตามินเอ จะส่งผลต่อตา การมองเห็น อาจทำให้ตาบอดกลางคืนได้ หรือแม้กระทั่งทำให้น้องหมาผิวแห้ง ระบบสืบพันธุ์ผิดปกติได้ หรือถ้าน้องหมาขาดวิตามินดี จะทำให้มีปัญหาเรื่องกระดูกผิดปกติได้ ถ้าน้องหมาขาดแร่ธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสจะทำให้เจริญเติบโตช้า กระดูกผิดรูป เป็นต้น

เพื่อน ๆ จะสังเกตเห็นว่าอาการน้องหมาเวลาขาดวิตามินหรือแร่ธาตุนั้น จะแสดงออกไปในทางเดียวกับหน้าที่ของวิตามินและแร่ธาตุนั้น ๆ 

แบบนี้เสริมวิตามินและแร่ธาตุไปเลยเยอะ ๆ ดีไหม?

ส่วนมากวิตามินที่ละลายในน้ำจะไม่เป็นอันตรายถ้าน้องหมาได้รับในปริมาณมาก เพราะว่าวิตามินเหล่านี้จะถูกขับออกทางปัสสาวะ อย่างไรก็ตามแน่นอนว่าถ้าน้องหมาจะได้วิตามินและแร่ธาตุที่น้อยหรือมากเกินไป จะส่งผลต่อร่างกายของน้องหมา นอกจากนี้การให้แร่ธาตุบางชนิดที่มากเกินไปจะไปขัดขวางการดูดซึมหรือการทำงานของแร่ธาตุอีกชนิดได้ หรือที่เรียกว่า “Antagonist” ดังนั้นเวลาร่างกายขาดแร่ธาตุบางตัวก็จะส่งผลกระทบต่อแร่ธาตุอีกตัวด้วย หรือเวลาที่ต้องให้น้องหมาเสริมแร่ธาตุตัวหนึ่ง จำเป็นต้องเสริมแร่ธาตุอีกตัวหนึ่งร่วมด้วย เช่น น้องหมาควรมีระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมคือ 1 ต่อ 1 ถึง 2 ต่อ 1 เพราะว่าถ้าแคลเซียมเยอะจะลดการดูดซึมฟอสฟอรัส ในทางกลับกันถ้ามีฟอสฟอรัสเยอะจะลดการดูดซึมแคลเซียมเช่นกัน

ที่มา 
Linda P. Case., Canine and Feline Nutrition, pp. 27-44.
Hand T., Small Animal Clinical Nutrition, pp. 107-148.
https://www.msdvetmanual.com/multimedia/table/aafco-nutrient-requirements-for-dogs

เขียนโดย
คุณหมอนีท ผู้รักสัตว์แทบทุกชนิดบนโลก ชื่นชอบอาหาร และหลงใหลในธรรมชาติ

Shopping Cart