14 พฤศจิกายน 2565
ระยะเวลาการอ่าน : 10 นาที
“ถ้าพูดถึงสารอาหารหลัก หรือ Macronutrients แล้ว เพื่อน ๆ นึกถึงอะไรกันคะ?
แน่นอนว่าโปรตีนเองก็เป็นหนึ่งในสารอาหารหลักที่จำเป็น
ดังนั้นในบทความนี้ หมอนีทอยากแบ่งปันเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับโปรตีนให้กับเพื่อน ๆ
ที่หมอเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่น้องหมาแน่นอนค่ะ ☺”

โปรตีนคืออะไร?
โปรตีนเป็นโมเลกุลที่ใหญ่และซับซ้อน เช่นเดียวกับคาร์โบไฮเดรต และไขมัน โปรตีนประกอบด้วยกรดอะมิโน 22 ตัว สำหรับน้องหมากรดอะมิโนที่จำเป็น (Essential amino acids) มีจำนวน 10 ตัวเท่านั้นค่ะ ซึ่งกรดอะมิโนจำเป็นเหล่านี้ไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น ส่วนกรดอะมิโนอีก 12 ตัว เป็นกรดอะมิโนไม่จำเป็น (Nonessential amino acids)
ตารางแสดงกรดอะมิโนจำเป็นและไม่จำเป็นในน้องหมา
Essential amino acids | Nonessential amino acids |
Arginine Histidine Isoleucine Leucine Lysine Methionine Phenylalanine Taurine (cats only) Threonine Tryptophan Valine | Alanine Asparagine Aspartate Cysteine Glutamate Glutamine Glycine Hydroxylysine Hydroxyproline Proline Serine Tyrosine |
สรุปเรื่องน่ารู้โปรตีนสั้น ๆ ที่คุณหมอมีพูดถึงคำเหล่านี้ต่อไปค่ะ
- กรดอะมิโนเป็นหน่วยเล็กที่สุดของโปรตีน
กรดอะมิโนต่อกัน 2 โมเลกุลด้วยพันธะเพปไทด์ เรียกว่า “ไดเพปไทด์” - กรดอะมิโนต่อกัน 3 โมเลกุลด้วยพันธะเพปไทด์ เรียกว่า “ไตรเพปไทด์”
- กรดอะมิโนต่อกัน 5-10 โมเลกุลด้วยพันธะเพปไทด์ เรียกว่า “พอลิเพปไทด์”
- ถ้ามากกว่า 50 โมเลกุล จะถือว่าเป็นโปรตีน

หน้าที่ของโปรตีน
- เป็นแหล่งพลังงาน
- เป็นส่วนประกอบหลักของเส้นผม ขน ผิวหนัง เล็บ เส้นเอ็น กระดูกอ่อน และเนื้อเยื่อตามร่างกาย เช่น Keratin, Tubulin, Collagen
- ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อ เช่น Myosin, Actin
- ช่วยปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม เช่น Immunoglobulins
- ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ระดับปกติ เช่น Insulin และ Glucagon
- ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย เช่น Thyroxine
- ขนส่งสารภายในเลือด หรือน้ำเหลืองตามร่างกาย เช่น Hemoglobin, Transferrin
- ช่วยในการย่อยอาหารโดยการแตกสารอาหารให้เป็นหน่วยย่อย เช่น Amylase, Lipase, Pepsin, Trypsin
โปรตีนย่อยอย่างไร?
โปรตีนในอาหารจะถูกย่อยและดูดซึมที่ทางเดินอาหาร ซึ่งขั้นตอนในการย่อยมีหลายขั้นตอน เริ่มจากกระเพาะอาหารย่อยโปรตีนโดยเอนไซม์เพปซินกลายเป็นพอลิเพปไทด์หลายสาย และย่อยต่อที่ลำไส้เล็กโดยเอนไซม์ที่สร้างจากตับอ่อนและเซลล์ที่บุผนังลำไส้เล็กให้เป็นไตรเพปไทด์ ไดเพปไทด์ และกรดอะมิโน จากนั้นจะถูกดูดซึมเข้าที่ผนังลำไส้ หลังจากที่ดูดซึมกรดอะมิโนไป จะถูกแยกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) นำไปสังเคราะห์เนื้อเยื่อ ฟื้นฟูร่างกาย 2) ใช้สังเคราะห์เอนไซม์ อัลบูมิน ฮอร์โมน และสารอื่น ๆ 3) กรดอะมิโนที่เหลือจะถูกนำไปเป็นพลังงาน ดังนั้นน้องหมาควรได้รับโปรตีนทุกวันเพื่อทดแทนกรดอะมิโนที่เสียไป
เกร็ดความรู้ ** ที่กระเพาะอาหารมีการดูดซึมโปรตีนน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย **
การที่ร่างกายจะย่อยโปรตีนได้ไวแค่ไหนขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น โครงสร้างของโปรตีน สารอาหารอื่น ๆ ที่อยู่ในอาหาร ปัจจัยที่ยับยั้งการทำงานเอนไซม์ เป็นต้น

กรดอะมิโนที่เดินทางผ่านมาถึงลำไส้ใหญ่นั้น คือ กรดอะมิโนและโปรตีนที่ไม่ถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็ก ซึ่งเกิดได้จากการที่น้องหมาได้รับอาหารที่มีค่าวัตถุแห้ง (Dry matter; DM) สูง อาหารที่มีโปรตีนสูง และอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพต่ำ กรดอะมิโนเหล่านี้จะถูกหมักที่ทางเดินอาหารส่วนท้ายและส่งผลให้อึน้องหมาที่ออกมามีกลิ่นไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้สารที่ทำให้เกิดกลิ่นยังส่งผลต่อสุขภาพทางเดินอาหารของน้องหมาอีกด้วย
น้องหมาจะได้กรดอะมิโนจากแหล่งไหนไม่สำคัญ เพราะว่าเซลล์ในร่างกายใช้กรดอะมิโนจากหลากหลายแหล่ง ทั้งที่มาจากโปรตีนและกรดอะมิโนที่ใส่เพิ่มเข้ามาในอาหาร หรือแม้กระทั่งกรดอะมิโนที่ร่างกายสังเคราะห์ได้เอง
ถ้าเกิดให้อาหารที่โปรตีนสูงเกินกว่าที่ร่างกายน้องหมาต้องการ ร่างกายจะนำโปรตีนส่วนเกินนี้เปลี่ยนไปเป็นไขมันตามร่างกาย แต่ถ้าร่างกายต้องการกรดอะมิโนมากกว่าที่จะได้จากอาหาร จะมีการสลายเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อก่อนเป็นลำดับแรก
การสลายโปรตีนทำให้เกิดแอมโมเนียขึ้น ซึ่งแอมโมเนียนี้เองเป็นพิษต่อเซลล์ร่างกาย โดยตับและไตจะเป็นอวัยวะที่จะมาช่วยทำให้แอมโมเนียพิษลดลงและขับออกทางปัสสาวะ
น้องหมาที่มีความผิดปกติทางร่างกาย เช่น สัตว์ที่ป่วยเป็นมะเร็ง หรือมีบาดแผล อาจต้องการโปรตีนที่เพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยส่วนที่ถูกนำไปใช้และช่วยฟื้นฟูซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ นอกจากที่ต้องการโปรตีนแล้ว การที่ได้กรดอะมิโนในสัดส่วนที่ถูกต้องก็จำเป็นต่อน้องหมาด้วยเช่นกัน
จริง ๆ แล้วน้องหมาต้องการโปรตีนเท่าไหร่กันแน่?
ความต้องการโปรตีนและกรดอะมิโนแตกต่างกันไปขึ้นกับแต่ละตัว ซึ่งต้องดูว่าน้องหมาอยู่ในช่วงเจริญเติบโต ช่วงตั้งท้อง ช่วงให้นม หรือมีภาวะโรคบางอย่างหรือไม่
ตามที่มาตรฐาน AAFCO ระบุไว้ว่า
- ในช่วงปกติทั่วไป น้องหมาต้องการโปรตีนอย่างน้อย 18% Dry matter หรือโดยประมาน 16% และ 2.5% ที่อยู่บนฉลากอาหารเม็ดและเปียกตามลำดับ
- ในช่วงเจริญเติบโต น้องหมาต้องการโปรตีนอย่างน้อย 22% Dry matter หรือโดยประมาน 20% และ 3% ที่อยู่บนฉลากอาหารเม็ดและเปียกตามลำดับ
โดยทั่วไปแล้ว ถ้าโปรตีนในอาหารมากขึ้น ค่าความน่ากินและค่าการยอมรับจะเพิ่มขึ้นด้วย การที่จะนำโปรตีนไปใช้ได้ขึ้นกับค่าการย่อยได้และคุณภาพของโปรตีนที่อยู่ในอาหาร โปรตีนที่มีค่าการย่อยได้สูง และมีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน ถือว่าเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดี ทำให้น้องหมาต้องการอาหารนั้นในปริมาณน้อยลงอีกด้วย
โปรตีนมากเกินไปในน้องหมา อันตรายหรือไม่?

เป็นอันตรายค่ะ แต่หมอต้องบอกเพื่อน ๆ ก่อนว่าการที่น้องหมาได้รับโปรตีนเกินจนเป็นพิษนั้นไม่ใช่เรื่องที่พบเจอได้ทั่วไป สำหรับโปรตีนที่มาจากพืชและสัตว์มักจะมีสัดส่วนของกรดอะมิโนที่เหมาะสมอยู่เเล้ว ดังนั้นการใส่กรดอะมิโนสังเคราะห์เพิ่มเข้าไปอย่างผิดสัดส่วนจะสามารถทำให้เป็นพิษได้เช่นกันค่ะ
การที่ได้รับโปรตีนที่มากเกินไปสามารถส่งผลกระทบกับอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแอมโมเนียเป็นยูเรียได้ ดังนั้นน้องหมาที่เป็นโรคไตหรือตับต้องระวังเรื่องการได้รับโปรตีนเกินเป็นพิเศษ แต่อย่างไรก็ตาม น้องหมาที่ดูภายนอกยังปกติและดูมีสุขภาพดี บางครั้งก็มีภัยเงียบซ่อนอยู่ เช่น น้องหมาที่เป็นโรคไตเรื้อรังที่ไม่แสดงอาการ ฉะนั้นการได้โปรตีนที่มากเกินไปจะทำให้โรคพัฒนาได้ไวขึ้น
จากหนังสือ Small Animal Clinical Nutrition แนะนำว่า โปรตีนในอาหารสำหรับน้องหมาปกติทั่วไป ควรได้รับโปรตีนไม่เกิน 30% DM หรือโดยประมาน 27% และ 4% ที่อยู่บนฉลากอาหารเม็ดและเปียกตามลำดับ
โปรตีนน้อยเกินไป ในน้องหมาส่งผลอะไรได้บ้าง?
ในกรณีที่น้องหมาขาดกรดอะมิโนจำเป็นบางตัวหรือได้รับโปรตีนน้อยเกินไปจะมีอาการที่เกิดขึ้นคือ อัตราการเจริญเติบโตลดลง สูญเสียกล้ามเนื้อ ผอมแห้งขาดสารอาหาร เลือดจาง ระบบสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์ การผลิตน้ำนมลดลง ขนร่วง และเปราะ ซึ่งเมื่อร่างกายขาดพลังงานและกรดอะมิโนจำเป็น จะทำให้ร่างกายต้องไปสลายเอากรดอะมิโนจากกล้ามเนื้อหรืออวัยวะส่วนอื่นๆมาแทน
เกร็ดความรู้ ** ภาวะไขมันพอกตับ หรือ Fatty liver ถือได้ว่าเป็นอาการหนึ่งของการขาดโปรตีน
เพราะว่าโปรตีนตัวหนึ่งที่จำเป็นต่อการแพ็คและขนส่งไขมันจากตับนั้นสังเคราะห์ขึ้นมาไม่เพียงพอ
ที่มา
Hand T., Small Animal Clinical Nutrition, pp. 81-95.
Linda P. Case., Canine and Feline Nutrition, pp. 21-26.
https://www.petmd.com/dog/nutrition/the_power_of_protein
https://courses.lumenlearning.com/wm-biology1/chapter/reading-function-of-proteins/
เขียนโดย
คุณหมอนีท ผู้รักสัตว์แทบทุกชนิดบนโลก ชื่นชอบอาหาร และหลงใหลในธรรมชาติ