FREE SHIPPING ON ALL ORDERS OVER 400 THB

All about Carbohydrate

12 ธันวาคม 2565
ระยะเวลาการอ่าน : 9 นาที

เพื่อน ๆ คิดว่าคาร์โบไฮเดรตหรือแป้งที่เรารู้จักกันนั้น จำเป็นต่อน้องหมาไหมคะ?
คาร์โบไฮเดรตถือว่าเป็นสารอาหารหลักในน้องหมาเช่นเดียวกับ โปรตีน และไขมัน 
ดังนั้นหมอนีทจะมาแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ ของคาร์โบไฮเดรตที่จะทำให้เพื่อน ๆ รู้ว่าเป็นได้มากกว่าแหล่งให้พลังงานค่ะ ☺

คาร์โบไฮเดรตคืออะไร?

คาร์โบไฮเดรตเป็นหนึ่งในสารอาหารหลักที่เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีหน่วยย่อยคือ น้ำตาล นอกจากจะเป็นแหล่งพลังงานหลักแล้วยังให้ใยอาหารอีกด้วย 

สามารถแบ่งประเภทตามโครงสร้างได้เป็น 

  1. น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (Monosaccharides) เช่น กลูโคส (Glucose) ฟรุกโทส (Fructose) กาแลคโทส (Galactose) 
  2. น้ำตาลโมเลกุลคู่ (Disaccharides) ประกอบด้วยน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว 2 หน่วยรวมเข้าด้วยกัน เช่น มอลโทส (Maltose) ซูโครส (Sucrose) แลคโทส (Lactose)
  3. น้ำตาลหลายโมเลกุล (Oligosaccharides or Polysaccharides) ประกอบด้วยน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวหลายหน่วยรวมเข้าด้วยกัน เป็นสายยาวหรือซับซ้อนขึ้น ซึ่งแยกออกได้เป็น
    3.1 คาร์โบไฮเดรตที่ย่อยได้ เช่น แป้ง (Starch) ไกลโคเจน (Glycogen)
    3.2 คาร์โบไฮเดรตที่ย่อยไม่ได้ เช่น ใยอาหาร (Fiber)

รู้หรือไม่ !? แป้งและใยอาหารที่เรารู้จักกันนั้น จริง ๆ แล้วจัดอยู่ในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเหมือนกันนะ ☺

คาร์โบไฮเดรตแต่ละชนิดมีสารอาหารต่างกันเล็กน้อย เช่น ข้าวโอ๊ตมีใยอาหารที่ละลายน้ำได้สูง ข้าวสาลีและถั่วมีโปรตีนสูง และมันเทศเป็นแหล่งโพแทสเซียมและเบต้าแคโรทีนที่ดี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในน้องหมาด้วย

ใยอาหาร (Fiber)

มี 2 ประเภท ได้แก่ 

  1. ใยอาหารที่หมักได้ (Fermentable fiber)
  • จุลชีพที่อยู่ที่ลำไส้จะหมักใยอาหารและนำสารอาหารไปใช้เป็นพลังงาน ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมัก เช่น กรดไขมันสายสั้น จะช่วยทำให้ค่ากรด-ด่างที่ลำไส้เป็นปกติ และยังช่วยให้พลังงานแก่เซลล์ลำไส้ได้ แต่น้อยกว่ากลูโคส
  • กรดไขมันสายสั้นที่ผลิตในปริมาณมากที่สุด ได้แก่ อะซีเตต (Acetate) โพรพิโอเนต (Propionate) และบิวทิเรต (Butyrate)
  • เช่น กัวร์กัม (Guar gum) เพคติน (Pectin) และเส้นใยอาหารจากกะหล่ำปลี (Cabbage fiber)
  1. ใยอาหารที่หมักไม่ได้ (Non-fermentable fiber)
  • ใยอาหารประเภทนี้ไม่ให้พลังงานแก่จุลชีพ มักจะขับถ่ายออกมาในรูปเดิม ช่วยให้อาหารจับเป็นก้อน เพิ่มมวลอุจจาระ และกระตุ้นการทำงานของลำไส้ 
  • เช่น เซลลูโลส (Cellulose) และแซนแทนกัม (Xanthan gum)

น้องหมาไม่มีเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยใยอาหาร ดังนั้นใยอาหารไม่สามารถให้พลังงานได้ แต่อย่างไรก็ตามใยอาหารที่น้องหมากินเข้าไป จะถูกหมักที่ลำไส้ใหญ่โดยจุลชีพ เช่น แบคทีเรียและยีสต์ เพื่อเป็นพลังงานแก่จุลชีพและเซลล์ลำไส้ใหญ่ 

ใยอาหารบางชนิดมีความสามารถเป็น Prebiotic ได้ ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของจุลชีพที่ลำไส้ ซึ่งทำให้ลดการเกาะกลุ่มของแบคทีเรียตัวร้ายได้อีกด้วย

ใยอาหารที่ไม่ได้ถูกหมักจะช่วยเสริมสร้างการทำงานของลำไส้และช่วยให้อุจจาระสม่ำเสมอ นอกจากนี้ด้วยความที่ใยอาหารแทบจะไม่ให้พลังงานแก่น้องหมาเลย ดังนั้นสามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารสำหรับน้องหมาที่มีความเสี่ยงว่าจะน้ำหนักเริ่มเยอะ

หน้าที่ของคาร์โบไฮเดรต

  • เป็นแหล่งให้พลังงาน โดยเฉพาะกลูโคสจำเป็นสำหรับการทำงานของสมอง
  • ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายได้
  • ส่งเสริมระบบย่อยอาหาร ให้ย่อยได้ดีและทำงานตามปกติ
  • ช่วยในการสังเคราะห์สารประกอบบางชนิด เช่น กรดดีออกซีไรโบนิวคลีอิก (DNA) และกรดไรโบนิวคลีอิก (RNA)
  • คาร์โบไฮเดรตส่วนเกิน ร่างกายจะสะสมในรูปของไกลโคเจน ซึ่งสามารถใช้เป็นพลังงานฉุกเฉินสำคัญสำหรับหัวใจได้ นอกจากนี้ ไกลโคเจนยังถูกสลายเพื่อเติมน้ำตาลเมื่อกลูโคสในเลือดต่ำได้

เพิ่มเติม* คาร์โบไฮเดรตสามารถเก็บสะสมในรูปของไกลโคเจนได้ในปริมาณที่จำกัด 
ดังนั้นถ้าน้องหมากินคาร์โบไฮเดรตมากเกินความต้องการ คาร์โบไฮเดรตนั้นจะเปลี่ยนเป็นไขมันในร่างกายเพื่อกักเก็บพลังงานต่อไป

การย่อยและนำไปใช้ที่ไหน?

ในคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ จะย่อยคาร์โบไฮเดรตที่ปากด้วยเอนไซม์ชนิดหนึ่ง แต่น้องหมาไม่สามารถสร้างเอนไซม์ชนิดนี้ได้ ดังนั้นน้องหมาจะย่อยคาร์โบไฮเดรตที่กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก แต่เกิดการย่อยที่ลำไส้เล็กมากกว่า อาหารที่อยู่ที่ลำไส้เล็กจะผสมกับเอนไซม์จากตับอ่อนที่เรียกว่า Pancreatic amylase ทำให้คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนแตกตัวออกเป็นเชิงเดี่ยว เช่น กลูโคสและมอลโตส จากนั้นเอนไซม์ที่อยู่ตามผนังลำไส้จะย่อยต่อและดูดซึมผ่านผนังลำไส้ไปใช้ตามร่างกายต่อไป

เกร็ดความรู้** น้องหมาไม่สามารถย่อยแลคโตสที่เป็นน้ำตาลในนมได้ ดังนั้นการที่น้องหมาทานอาหารที่มีแลคโตส ทำให้เกิดปัญหาต่อระบบทางเดินอาหารได้ เช่น ท้องเสีย เป็นต้น

แล้วจริง ๆ น้องหมาต้องการคาร์โบไฮเดรตหรือเปล่า?

แม้ว่าทาง AAFCO หรือ FIDEAF จะไม่กำหนดค่าความต้องการขั้นต่ำไว้ จริง ๆ แล้วร่างกายของน้องหมาก็ยังคงต้องการคาร์โบไฮเดรตอยู่ เพื่อให้ได้น้ำตาลกลูโคสไปให้พลังงานแก่เนื้อเยื่อในร่างกาย เช่น สมอง เม็ดเลือดแดง ดังนั้นถ้าคาร์โบไฮเดรตไม่พอ ร่างกายจะสลายกล้ามเนื้อเพื่อเป็นพลังงานแทน 

เมื่อน้องหมาอยู่ในภาวะที่ต้องการพลังงานสูง เช่น ระหว่างการเจริญเติบโต ช่วงการตั้งท้อง หรือแม้แต่ช่วงการให้นมลูก จำเป็นที่จะต้องมีคาร์โบไฮเดรตในอาหารอย่างเพียงพอ เพื่อรักษากระบวนการเผาผลาญต่าง ๆ ของร่างกายให้เป็นไปตามปกติ ดังนั้นอาหารน้องหมาที่อยู่ในช่วงเติบโตและต้องการพลังงานสูง ควรมีคาร์โบไฮเดรตอย่างน้อย 20% as dry matter

รู้หรือไม่ !? น้องหมาที่ท้องและอยู่ช่วงให้นมลูก จะมีความต้องการกลูโคสมากขึ้นเพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของตัวอ่อนและการสังเคราะห์แลคโตสในน้ำนม ซึ่งผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ถ้าน้องหมาที่อยู่ในภาวะดังกล่าวได้รับกลูโคสไม่เพียงพอ คือ ตัวอ่อนเจริญเติบโตผิดปกติ เกิดการดูดซึมกลับของตัวอ่อน และสร้างน้ำนมลดลง 

น้องหมาควรได้รับคาร์โบไฮเดรตเท่าไหร่?

ความต้องการคาร์โบไฮเดรตของน้องหมาแตกต่างกันไปในแต่ละตัว เพราะน้องหมาแต่ละตัวสามารถย่อยได้ต่างกัน บางตัวย่อยได้ดีและอุจจาระออกมาสุขภาพดีเมื่อได้กินคาร์โบไฮเดรตจำพวกธัญพืช ในขณะที่บางตัวก็ไม่เป็นเช่นนั้น 

การปรับปริมาณคาร์โบไฮเดรตยังขึ้นกับสภาพของน้องหมา เช่น น้องหมาที่มีระดับไขมันในเลือดสูงหรือเป็นโรคตับอ่อนอักเสบ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีค่าไขมันสูง และเลือกอาหารที่มีค่าคาร์โบไฮเดรตสูงแทน เนื่องจากน้องหมาที่อยู่ในภาวะดังกล่าวจะต้องได้อาหารที่มีไขมันต่ำ ดังนั้นการปรับอาหารให้มีคาร์โบไฮเดรตจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าในกรณีนี้ เป็นต้น

ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยรองรับถึงความอันตรายของคาร์โบไฮเดรตต่อน้องหมา รวมถึงความเกี่ยวข้องต่อการเป็นเบาหวานด้วย

สำหรับน้องหมาที่มีปัญหาด้านระบบทางเดินอาหาร อาจต้องปรับปริมาณหรือประเภทของคาร์โบไฮเดรตและใยอาหาร ให้เหมาะสมกับตัวน้องหมา เช่น การให้อาหารที่มีใยอาหารจะเป็นผลดีต่อการจัดการโรคทางลำไส้ใหญ่หลายโรค รวมถึงโรคทางลำไส้เล็กบางโรคด้วย อาหารที่มีใยอาหารสามารถชะลอระยะเวลาการขนส่งสารอาหารของลำไส้เล็ก ช่วยจับสารพิษและกรดน้ำดีที่สร้างความระคายเคือง รวมถึงยังช่วยให้การเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารเป็นปกติ

ในอาหารน้องหมาบางบริษัทมีคาร์โบไฮเดรตมากกว่า 50% ซึ่งมีใยอาหารถึง 15% เลยทีเดียว แต่ตามหนังสือ Small Animal Clinical Nutrition เขียนไว้ว่า ปริมาณใยอาหารที่ควรมีอยู่ในอาหารและทำให้น้องหมามีสุขภาพที่ดีควรน้อยกว่า 5% การที่ได้ใยอาหารบางชนิดมากเกินไป สามารถไปยับยั้งการดูดซึมแร่ธาตุได้ 

เกร็ดความรู้** ค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic index (GI)) เป็นตัววัดการตอบสนองของกลูโคสในเลือดต่อคาร์โบไฮเดรต ใช้ในการจัดอันดับคาร์โบไฮเดรตในอาหารได้ คาร์โบไฮเดรตที่ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดตอบสนองช้าจะมีดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน สำหรับน้องหมาที่มีความทนทานต่อคาร์โบไฮเดรตต่ำ ควรกินอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ 

ถ้าน้องหมาได้รับคาร์โบไฮเดรตมากไปล่ะ?

การที่น้องหมาได้รับคาร์โบไฮเดรตมากไป มีผลทำให้กลูโคสในเลือดขึ้นสูงได้ ในภาวะที่มีกลูโคสในเลือดสูง จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ที่สร้างจากตับอ่อนเข้าไปในกระแสเลือด เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ระดับปกติ 

ในน้องหมาที่มีกลูโคสในเลือดสูง นอกจากจะเกิดได้จากการได้รับคาร์โบไฮเดรตที่มากเกินไปแล้วนั้น ยังเกิดได้จากการมีระดับฮอร์โมนอินซูลินต่ำเพราะตับอ่อนอักเสบไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลิน จนเกิดการขาดฮอร์โมนอินซูลินได้

ที่มา 
Linda P. Case., Canine and Feline Nutrition, pp. 13-16.
Hand T., Small Animal Clinical Nutrition, pp. 66-81.
https://europeanpetfood.org/wp-content/uploads/2022/03/FEDIAF_Carbohydrates-OnlineK.pdf
https://europeanpetfood.org/pet-food-facts/fact-sheets/nutrition/carbohydrates-in-dog-and-cat-food/
https://vetnutrition.tufts.edu/2021/07/the-role-of-carbohydrate-in-pet-foods/
https://www.whole-dog-journal.com/health/digestion/carbohydrates-and-your-dogs-digestive-system/
https://www.petmd.com/dog/conditions/endocrine/c_dg_high_blood_sugar

เขียนโดย
คุณหมอนีท ผู้รักสัตว์แทบทุกชนิดบนโลก ชื่นชอบอาหาร และหลงใหลในธรรมชาติ

Shopping Cart